โรคซึมเศร้า ความเครียด กลายเป็นปัญหาสำคัญที่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่เป็นอย่างมาก จากข้อมูลในปี 2559 พบว่าคนไทยป่วยเป็นเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 12 ล้านคนและเป็นผู้ที่ไม่ได้มาพบแพทย์มากกว่า 1 ล้านคน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอาการป่วยทั้งทางร่างกาย จิตใจและความคิด ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) มีปริมารลดลงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหดหู่ ไม่มีความสุขมีแต่ความวิตกกังวล ไม่สนุกสนานกับชีวิต นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นตอนกลางคืน  โดยมีปัจจัยสำคัญหลายอย่างที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้า เช่น ความกดดันจากงาน สภาพแวดล้อม รวมไปถึงการเสพติดโลกโซเซียลมากจนเกินไป หากไม่ได้รับการรักษาอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงมากขึ้นจนทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดนั้นก็คือ การฆ่าตัวตาย

แต่ไม่ต้องตกใจไป! โรคซึมเศร้าและความเครียดสามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้จากการรับประทานยา การใช้วิธีจิตบำบัดและธรรมชาติบำบัด โดยเฉพาะ แสงแดด เพราะแสงแดดอ่อนๆจะช่วยลดฮอร์โมนเมลาโทนิน ที่สร้างขึ้นจากต่อมไพเนียลเพื่อควบคุมการนอนหลับ โดยเมลาโทนินนั้นจะถูกกระตุ้นด้วยความมืดและยับยั้งด้วยแสงสว่าง ดังนั้นการรับแสงแดดจึงช่วยให้ร่างกายของเรารู้สึกสดชื่น

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะกลายเป็นคนเศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อยมากขึ้น

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งบริติช โคลัมเบีย นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ได้ทำการทดลองบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วยแสง ในการทดลองมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงทั้งหมด 122 คน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม โดยในแต่ละกลุ่มจะใช้วิธีการบำบัดที่แตกต่างกัน การทดลองนี้ใช้ระยะเวลาทั้งหมด 8 สัปดาห์

ผลการบำบัดพบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการบำบัดด้วยแสงภายในห้องที่เปิดไฟจากหลอดฟลูออเรสเซนต์เป็นเวลา 30 นาทีทุกเช้า พร้อมรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง มีอาการดีขึ้นกว่าเดิมถึง 50% หรือสูงกว่า และผู้ป่วยที่บำบัดด้วยแสงอย่างเดียวมีอาการดีขึ้นมากถึง 50% มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับแสงอาทิตย์

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย McGill ในประเทศแคนาดา พบว่า การที่ร่างกายของเราไม่ได้รับแสงแดดในตอนเช้าอาจส่งผลให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน การออกมารับแสงแดดในตอนเช้าจะทำให้อารมณ์แจ่มใส กระปรี้กระเปร่า ซึ่งแสงแดดในการรักษาโรคซึมเศร้าควรมีความสว่าง 1,500-10,000  ลักซ์ หรือแสงแดดช่วงเวลา 6.00 – 9.00 น.

ร่างกายของเราควรได้รับแสงแดดตอนเช้าวันละ 30-60 นาที

ในประเทศไทยก็ได้มีการทำวิจัยเกี่ยวกับการรักษาด้วยแสงในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ที่ทำวิจัยเรื่องนี้คือ นายแพทย์สรยุทธ วาสิกนานนท์ ผลสรุปการวิจัยพบว่า การให้แสงสว่างในขนาดและเวลาที่เหมาะสมจะสามารถเลื่อนวงจรการทำงานของร่างกายรอบ 24 ชั่วโมงให้เร็วขึ้นและมีผลต่อการแก้โรคซึมเศร้าได้ โดยผู้ป่วยมีอัตราการตอบสนองต่อการรักษาประมาณร้อยละ 60 ถึง 70 ส่วนผลข้างเคียงนั้น พบว่าอาจเกิดอาการปวดศีรษะ ปัญหาทางตาและสายตาขึ้นได้ แต่ผลข้างเคียงทั้งหมดเป็นเพียงชั่วคราวไม่รุนแรง และไม่มีผลกระทบต่อการรักษา

โรคซึมเศร้าหากได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการที่ดีขึ้นมาก

ปัจจุบันนอกจากแสงแดดจากธรรมชาติแล้วยังมีสีที่ช่วยในการบำบัดอาการเจ็บป่วยต่างๆได้อีกด้วยเช่นกัน นักจิตวิทยาได้นำพลังของสีมาปรับใช้กับผู้ป่วยมากมายเรียกว่า “สีบำบัด” หรือ“Color Therapy” กล่าวคือสีในแต่ละสีจะมีความยาวคลื่น(Wave Length) และความถี่(Frequency) ที่แตกต่างกันเมื่อประสาทตาของเรารับแสงสีต่างๆ จะส่งผลต่อต่อมไพเนียลและจะมีปฏิกิริยาในการตอบสนองแตกต่างกันออกไปซึ่งจะส่งผลต่อจิตใจ ฮอร์โมนและอารมณ์ในร่างกายของเรา สำหรับการใช้แสงในการรักษาโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่จะใช้สีขาว สีเหลือง สีทอง สีส้ม เพื่อช่วยลดอาการท้อแท้ หดหู่ หมดกำลังใจ ทั้งนี้การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยแสงควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

โรคซึมเศร้ามีโอกาศเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะความเครียดไม่ควรอยู่คนเดียวตามลำพัง การออกไปทำกิจกรรมร่วมกับบุคคลอื่นๆ โดยเฉพาะกิจกรรมกลางแจ้ง อย่างเช่น การออกกำลังกาย การท่องเที่ยวในสถานที่ธรรมชาติ เป็นต้น จะสามารถช่วยให้ลดความเครียดลงและแสงแดดจากข้างนอกยังช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายอีกด้วย